ตามรอยเมืองไชยา

จากข้อสงสัยตอนที่มาอยู่สุราษฎร์ใหม่ๆ ว่าทำไมจึงมีรูปปั้นเหมือนพระครึ่งองค์ตั้งอยู่กลางเมือง ไม่ว่าจะไปที่ไหนๆ ก็จะมีแต่รูปภาพนี้เต็มไปหมด อย่ากระนั้นเลยเราไปตามรอยกันเถอะ

จริงๆ แล้วรูปปั้นที่ว่าเป็นองค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นประติมากรรมศิลปะศรีวิชัย เป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน (เป็นนิกายในศาสนาพุทธฝ่ายอาจริยวาท ที่นับถือกันอยู่ประเทศแถบตอนเหนือของอินเดีย, เนปาล, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, เวียดนามและมองโกเลีย) อายุราว 1200 ปีมาแล้ว ค้นพบที่วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งประติมากรรมนี้เหลือเพียงส่วนองค์ท่อนบน ยืนในท่าตริภังค์ ห่มหนังกวางเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ คล้องสายพุกตยัชโญปวีตพาดเฉวียงเหนือพระอังษาซ้าย สวมศิราภรณ์ กรองศอ พาหุรัด อิทธิพลศิลปะอินเดีย ที่มา: พิพธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

      “เมืองไชยา” เคยเป็นเมืองเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในทางใต้ เชื่อกันว่าเคยเป็นที่ตั้งเมืองสำคัญหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย (อาณาจักรที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้บริเวณแหลมมลายู ศูนย์กลางอยู่บนเกาะชวา) ในสมัยโบราณ โดยมีหลักฐานทั้งโบราณวัตถุและโบราณสถานจำนวนมาก และเคยถูกพม่ายกกองทัพเข้าตีพร้อมกับเผาเมืองในช่วงสงคราม 9 ทัพ เสียหายจนถาวรวัตถุเป็นซากปรักหักพังเหลือไว้เป็นอนุสรณ์ ที่มา: wikipedia.org

บริเวณวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร มีระเบียงคดหรือวิหารคดเป็นระเบียงล้อมรอบองค์พระบรมธาตุอยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ 38 เมตร สูง 4 เมตร และมีพระวิหารหลวงที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกขององค์เจดีย์พระบรมธาตุไชยา สร้างยื่นล้ำเข้าไปในพระวิหารคด หลังคา 2 ชั้น มีช่อฟ้า นาคสะดุ้ง มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ที่หน้าบันสลักลายดอกไม้เทศ พื้นประดับด้วยกระจกสีตามลวดลายปิดทองคำเปลว

ส่วนพระพุทธรูปศิลาทรายแดงสามองค์ หรือพระพุทธรูปสามพี่น้องซึ่งประดิษฐานอยู่กลางแจ้งบนลานภายในกำแพงแก้ว เป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยอยุธยา โดยฝีมือสกุลช่างไชยาปางมารวิชัย

พระบรมธาตุไชยาเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นศิลปกรรมสมัยศรีวิชัยที่มีความสวยงาม สร้างตามคติความเชื่อในพุทธศาสนามหายาน เมื่อประมาณ พ.ศ. 1300 ในสมัยที่อาณาจักรศรีวิชัยกำลังรุ่งเรือง เป็นพระธาตุที่มีรูปร่างไม่เหมือนที่ใดในประเทศไทย แต่ไปมีรูปทรงที่เหมือนกับธรรมสถานบุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย เชื่อกันว่าเก่าแก่ที่สุดในระแวกนี้ องค์เจดีย์พระบรมธาตุเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรมุขด้านหน้ามีบันไดขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูปภายในเจดีย์ เมื่อเข้าไปภายในจะเห็นองค์พระเจดีย์หลวง เห็นผนังก่ออิฐแบบไม่สอปูนลดหลั่นกันขึ้นไปถึงยอดมุข อีกสามด้านทึบทั้งหมด ที่มุมฐานทักษิณมีเจดีย์ทิศหรือเจดีย์บริวารตั้งซ้อนอยู่ด้วย หลังคาทำเป็น 3 ชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับรูปวงโค้งขนาดเล็กและสถูปจำลองรวม 24 องค์ เหนือขึ้นไปเป็นส่วนยอด

พระพุทธรูปน้อยใหญ่มากมายหลายองค์ที่ประดิษฐานในพระวิหารหลวง

พระพุทธรูปรอบวิหารคดปางต่างๆ 180 องค์

พระพุทธรูปรอบวิหารคด

พระพุทธรูปศิลาทรายแดง

เจดีย์ทิศที่ตั้งอยู่รอบองค์พระบรมธาตุที่มุมทั้ง ๔ ทิศ

สวนโมกขพลาราม สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นทุกข์ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 41 อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

ถ้าพูดถึงสวนโมกขพลารามก็ต้องพูดถึงท่านพุทธทาสภิกขุ…
     ท่านพุทธทาสภิกขุและสวนโมกขพลารามเป็นความภาคภูมิใจของชาวสุราษฎร์ ซึ่งท่านพุทธทาสภิกษุที่เกิด ณ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้ก่อตั้งสวนโมกขพลาราม ตั้งอยู่ที่วัดธารน้ำไหล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทางศาสนาระหว่างกันมีผู้มาปฏิบัติธรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นแหล่งสำคัญในการศึกษาค้นคว้าวิชาการทางพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่ผลิตตำราและบุคลากรเพื่อใช้ในการเผยแพร่ธรรม เดิมทีท่านต้องการให้สวนโมกข์เป็นองค์การอิสระ แต่ต่อมาภายหลังได้ยกให้เป็นของวัดธารน้ำไหลทั้งหมด
ท่านพุทธทาสมีความรู้แตกฉานในศาสตร์ต่างๆ มากมาย และท่านได้อุทิศตนเพื่อการเผยแพร่แก่นพระธรรมที่มีความร่วมสมัยและประยุกต์ใช้ได้กับระดับสังคมและปัจเจกบุคคล รวมถึงการผสานส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนา เพื่อความสันติภาพ ความเป็นธรรมของสังคมและบุคคล จนเมื่อปี พ.ศ.2549 ยูเนสโกมีมติประกาศยกย่องพระธรรมโกศาจารย์หรือพุทธทาสภิกขุให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

คำสอนของพุทธทาสภิกขุที่ผู้คนจดจำมากที่สุด

๑) ความเข้าใจผิดว่าทำดีต้องได้ดี ทำบุญต้องได้บุญ
ที่ถูก คือทำดีไม่ได้อะไร ได้แค่ละกิเลส ทำบุญ ได้แค่สบายใจ

๒) เข้าใจผิดว่า ดีกับใคร คนนั้นต้องดีตอบ
ที่ถูก คือ เรามีหน้าที่ดี ใครจะดีกับเรา ไม่ดีกับเรา ไม่ใช่เรื่องของเรา

๓) เข้าใจผิดว่า ให้อะไรใคร ต้องได้กลับคืน
ที่ถูก คือ การ “ให้” คือ ยินดีเสียสละ ให้แล้วคาดหวัง..ไม่ใช่การให้ อ้างบุญคุณไม่ได้

๔) เข้าใจผิดว่า แก่แล้วทำอะไรก็ได้
ที่ถูก คือ แก่แล้วต้องยิ่งสำนึก ทำชั่วไม่ได้ เวลาเหลือน้อย

๕) เข้าใจผิดว่า ต้องทำเพื่อความมั่นคงของชีวิตในภายหน้า
ที่ถูก ความมั่นคงไม่มีในโลก ตายได้ทุกเมื่อ

๖) เข้าใจผิดว่า ความต้องการของตัวเองสำคัญที่สุด เราสำคัญที่สุด
ที่ถูก คือ ไม่มีความต้องการนั่นแหละสำคัญที่สุด ไม่มีเราต่างหากสำคัญที่สุด

๗) เข้าใจผิดว่า เข้าวัด ใจสงบ.
ที่ถูก คือ วัดอยู่ในใจ ใจสงบ

๘) เข้าใจผิดว่า ความสบายเลือกได้.
ที่ถูก คือ เกิดมาก็ทุกข์แล้ว มันเลือกไม่ได้ ไม่มีใครสบายตลอดชาติ

๙) เข้าใจผิดว่า สิ่งของ คนของเรา ตัวตนของเรา เราต้องยึดไว้ รักษาไว้
ที่ถูก คือ ไม่มีอะไร หรือใครให้ต้องยึด ต้องรักษา ทุกอย่างไม่ใช่ของเราและที่สุดแล้วก็ไม่มี

หนังสือพุทธทาสภิกขุ

    วัดเวียง ตั้งอยู่ตำบลตลาดไชยา(ตำบลเวียงเดิม) เคยเป็นเมืองเก่า เชื่อกันว่าเดิมเป็นวังของกษัตริย์ศรีวิชัย สร้างเมื่อ พ.ศ. 1318 เดิมชื่อวัดเวียงไชยหรือวัดหัวเวียง บริเวณนี้มีกำแพงและคูเมืองล้อมรอบ เป็นวัดประจำเมืองพระเวียงของไชยาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย
   วัดเวียงถูกประกาศให้เป็นเขตโบราณสถาน ได้มีการขุดพบฐานศาสนสถานโบราณจมดินอยู่ 2-3 เมตร หน้าวิหาร มีกระปุกและหม้อหลายชนิดหลายสมัยบรรจุกระดูกและลูกปัดหินวางซ้อนกันที่ฐาน 200 กว่าใบ

โบสถ์วัดเวียง

       หมู่บ้านพุมเรียง เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของอำเภอไชยามีชื่อเสียงในการทอผ้าซึ่งเป็นผ้าไหมที่มีลวดลายสวยงาม คุณภาพดี และเป็นบ้านเกิดของท่านพุทธทาสภิกขุอีกด้วย

บ้านเดิมท่านพุทธทาสในตลาดพุมเรียง ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดี

นอกจากนั้นพุมเรียงยังมีแหลมโพธิ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมงและเป็นที่จอดเรือขนาดเล็กทางฝั่งทะเลฝั่งตะวันออก ที่มีลักษณะเป็นดินโคลนและมีป่าโกงกางปกคลุมบริเวณชายฝั่งตลอดแนวยาว เป็นชายทะเลที่น่าเที่ยวแห่งหนึ่งของตำบลพุมเรียง แหลมโพธิ์มีหาดทรายขาวสะอาด ทิวทัศน์สวยงาม บรรยากาศ ร่มรื่น ยังคงสภาพ ธรรมชาติไว้มาก

ชายทะเลแหลมโพธิ์ที่มีหาดทรายขาวสะอาด ทิวทัศน์สวยงาม

หมู่บ้านชาวประมงและเป็นที่จอดเรือขนาดเล็ก

ชาวบ้านเดินหาเศษลูกปัดโบราณ บริเวณชายทะเลที่เคยเป็นท่าเรือเก่าที่มีความรุ่งเรืองในอดีต

ร้านค้าเก่าในตลาดพุมเรียงที่สะท้อนความรุ่งเรืองในอดีต

     พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย ) เจ้าเมืองไชยา เป็นผู้ชำนาญเกี่ยวกับหัวเมืองชายทะเลปักษ์ใต้ เป็นผู้ที่สร้างคุณงามความดีเป็นที่ประจักษ์มิใช่เฉพาะแต่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเท่านั้น หากแต่ได้สร้างคุณงามความดีให้กับประเทศชาติโดยส่วนรวมอีกด้วย
    พระยาวจีสัตยารักษ์ถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ รวมอายุได้ ๗๐ปี ปัจจุบันมีสถูปซึ่งบรรจุอัฐิของท่านและบุตรหลานในตระกูลศรียาภัย ณ เมืองไชยา(เก่า) ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย ) 

สถูปบรรจุอัฐิตระกูลศรียาภัย

อีกหนึ่งศิลปะที่สำคัญและมีชื่อเสียงของไชยาก็คือ “มวยไชยา
     มวยไชยาเป็นศิลปะการต่อสู้ของไทยที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องบ้านเมืองมาตั้งแต่โบราณกาล มีที่มาจากพ่อท่านมา แห่งวัดทุ่งจับช้าง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎ์ธานี ท่านได้เมตตาถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้ของไทยให้กับประชาชนและท่านพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองไชยา และท่านก็ได้ถ่ายทอดวิชานี้ให้แก่ลูกๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนายเขตร ศรียาภัย ซึ่งต่อมาท่านได้ถูกขนานนามว่า ปรมาจารย์
     มวยไชยาจะสอนการป้องกันตัวแบบ 4 ป.คือ ป้อง ปัด ปิด เปิด เป็นท่าสำคัญ ดังนั้นมวยไชยาจึงเป็นหนึ่งในสายมวยที่ถูกเลือกให้ใช้ฝึกทหารคอยดูแลอารักขาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณ

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/article/577804

     จากการศึกษาและตามรอยเมืองไชยากันแล้ว จะเห็นได้ว่าเมืองไชยามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีร่องรอยความเจริญจากอดีตที่ปรากฏอยู่ จนเมื่อย้ายไปตั้งเมืองที่สุราษฎร์ธานีก็ยังนำพระบรมธาตุไชยาไปเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด สวนโมกขพลารามและท่านพุทธทาสภิกขุก็ยังเป็นความภาคภูมิใจของคนสุราษฎร์ธานีเสมอมา ผู้คนที่มาเยือนสุราษฎร์ธานีก็ไม่ลืมที่จะแวะนมัสการพระบรมธาตุไชยาเพื่อความเป็นสิริมงคลทุกครั้งไป

By Panom Boonprai

M.S. (Information and Internet Technology) Teacher of Special expertist. Information Technology dept. Suratthani Technical College.