การถ่ายภาพ หรือการเขียนภาพด้วยแสง เป็นการบันทึกสภาพแสงในช่วงเวลาใดหรือสถานที่ใดที่หนึ่ง ดังนั้นความสำคัญของการถ่ายภาพก็คือการควบคุมแสงที่จะให้ลงสู่วัตถุไวแสง (Image Sensor) ผ่านอุปกรณ์ควบคุมแสง(กล้องถ่ายภาพ) เพื่อบันทึกเป็นภาพออกมา

ภาพแสดงหลักการทำงานของกล้องถ่ายภาพดิจิตอลแบบ DSLR

ทีนี้เรามาดูกันว่าเราจะจัดการหรือควบคุมปริมาณแสงที่จะเข้ามาสู่ Image Sensor เพื่อทำให้เกิดภาพได้ด้วยการควบคุมค่าใดและอย่างไรบ้าง

# รูรับแสง (Aperture)  คือรูที่ใช้ควบคุมปริมาณแสงที่จะผ่านเข้าไปในกล้อง ด้วยแผ่นไดอะเฟรมกันแสงที่จะผ่านเข้ามายัง Image Sensor มีหน่วยวัดเป็น F number
…ถ้า f  number มากๆ รูรับแสงจะแคบ ปริมาณแสงจะผ่านเข้ามายัง Image Sensor ได้น้อยลง มีผลกับภาพที่ได้ในแบบของความชัดลึก เหมาะกับการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์
…ถ้า f  number น้อยๆ รูรับแสงจะกว้าง ปริมาณแสงจะผ่านเข้ามายัง Image Sensor ได้มากขึ้น ทำให้สามารถถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยได้ดี และมีผลกับภาพที่ได้ในแบบหน้าชัดหลังเบลอ

ค่า f number ที่มีผลกับปริมาณแสงที่เข้ามายัง Image Sensor 

ค่า f number ที่มีผลกับระยะชัดของภาพ

# ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed ) คือระยะเวลาที่ม่านชัตเตอร์ของกล้องจะเปิดรับแสง มีหน่วยเป็นวินาที
…ความเร็วชัตเตอร์สูงก็จะมีระยะเวลาที่เปิดรับแสงได้น้อย จะมีข้อดีที่สามารถจับภาพได้แม่นยำ จับสิ่งที่เคลื่อนไหวให้หยุดนิ่งได้
…ความเร็ว
ชัตเตอร์ต่ำก็จะมีระยะเวลาที่เปิดรับแสงได้นาน ใช้จับภาพต่อเนื่อง ภาพที่มีสภาพแสงน้อย เช่นภาพกลางคืน แสงไฟ แต่อาจจะต้องใช้ควบคู่กับขาตั้งกล้อง ป้องกันภาพสั่นไหว

ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่มีผลต่อปริมาณแสงและการจับการเคลื่อนไหว

# ค่าความไวแสง (ISO) คือค่าที่ใช้ในการกำหนดความไวต่อแสงของเซนเซอร์ ถ้าค่า ISO มาก กล้องก็จะไวแสงมากทำให้เราถ่ายภาพในที่มืดได้ แต่ก็จะทำให้เกิดสัญญาณรบกวนหรือว่า Noise ขึ้นมา
การเลือกใช้ ISO ขึ้นอยู่กับว่าต้องการอะไรจากภาพ เช่น การถ่ายภาพภายนอกอาคารที่มีแสงมาก การเลือกใช้ ISO ต่ำๆ ซึ่งก็ยังคงใช้ Shutter Speed ถ่ายภาพได้ แถมยังได้ความละเอียดของภาพดีด้วย ตรงข้ามกับการถ่ายภาพในอาคารหรือภาพกลางคืนที่มีสภาพแสงน้อย จนไม่สามารถเพิ่มรูรับแสงหรือลด Shutter Speed จนไม่สามารถถือกล้องได้แล้ว เราก็ควรเลือกที่จะใช้ ISO สูงขึ้น เพื่อให้กล้องรับแสงได้ ถึงแม้จะมี Noise ก็ดีกว่าไม่ได้ภาพเลย

การใช้งานและผลที่เกิดจากการปรับค่า ISO

การควบคุมรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และค่า ISO แม้จะใช้ควบคุมคนละอย่างคนละแบบ แต่ทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมาแล้วนั้นมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือถ้าเราปรับตัวใดตัวหนึ่งแล้วก็จะต้องปรับอีก 2 ค่าให้สัมพันธ์กัน ให้ได้ค่าแสงที่ต้องการ เช่น การถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย เราเปิดรูรับแสงกว้างสุดแล้วก็ยังได้ความเร็วสปีชชัตเตอร์ที่ยังช้าอยู่ (ไม่สามารถถือกล้องถ่ายได้) ก็ต้องเพิ่มค่า ISO ช่วย เป็นต้น

เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานของการถ่ายภาพ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอุปกรณ์ถ่ายภาพยังมีข้อจำกัดที่จะรับรู้สภาพแสงที่ไม่เหมือนกับตามนุษย์ที่มีความไวแสงสูง มีความพิเศษสามารถปรับการรับแสงได้ ทำให้มองเห็นในส่วนที่มีความเปรียบต่างของแสงมากๆ ตั้งแต่แสงที่มีความเข้มน้อยๆ ไปจนถึงแสงสว่างจ้า ซึ่งต่างจาก Image Sensor ของกล้องที่สามารถรับค่าแสงได้เพียงค่าเดียว ดังนั้นเราจึงต้องตัดสินใจกับค่าแสงที่ต้องการจริงๆ ณ เวลานั้น ซึ่งอาจจะได้อย่างเสียอย่าง หรือจะใช้วิธีการเฉลี่ยค่า หรือใช้อุปกรณ์บังหรือลดทอนแสงในส่วนที่ไม่ต้องการได้ซึ่งจะต้องศึกษาวิธีการกันต่อไป

# ค่าสมดุลแสงสีขาว (WHITE BALANCE) ทำหน้าที่ควบคุมสีของภาพให้ออกมาตรงตามที่ตาเห็น ค่าของ White Balance จะมีอยู่ 8 อย่างด้วยกัน ดังนี้
Auto – เป็นการปรับค่าแสงสมดุลสีขาวแบบอัตโนมัติของกล้อง
Tungsten – ใช้แก้สีส้ม โดยใส่สีน้ำเงินหรือสีฟ้าเข้าไป
Fluorescent  – ใช้แก้สีน้ำเงินหรือสีเขียว โดยใส่สีม่วงลงไป
Daylight – ใช้แก้สีฟ้าอ่อนที่เกิดจากดวงอาทิตย์ในตอนกลางวัน โดยใส่สีส้มเข้าไป
Flash – ใช้แก้สีฟ้าอ่อน โดยใส่สีส้มหรือสีเหลืองเข้าไป
Cloudy – ใช้แก้สีฟ้าที่เกิดจากการมีเมฆมาก โดยใส่สีส้มเข้าไป
Shade – ใช้แก้สีฟ้าที่เกิดจากการถ่ายภาพในร่ม ซึ่งอาจจะมีสีฟ้ามากกว่าปกติ กล้องจะใส่สีส้มเข้าไป
Custom – ใช้เลือกปรับเติมสีของ White Balance เอง ในกรณีที่ตัวเลือกต่างๆ ที่กล่าวมาให้ผลไม่ตรงกับความต้องการ มีหน่วยเป็น Kelvin (ค่าอุณหภูมิของสีดูได้จากแถบสีในภาพข้างล่าง)

สัญลักษณ์รูปแบบค่า White Balance แบบต่างๆ

แสงที่ใช้ในการถ่ายภาพโดยส่วนใหญ่ เกิดจากการแผ่รังสีความร้อนซึ่งทําให้เกิดแสง ดังนั้นในการวัดค่าสีที่เกิดจากแสงนั้น จึงวัดด้วยหน่วยอุณหภูมิเดียวกับอุณหภูมิความร้อนซึ่งการวัดค่าอุณหภูมิสีของแสงนั้นใช้หน่วยเป็น K(เคลวิน)

อุณหภูมิสีของแสงกับการถ่ายภาพ

การวัดแสงของกล้องถ่ายภาพ การถ่ายภาพวัตถุเป็นการบันทึกแสงที่สะท้อนมาจากวัตถุ และวัตถุแต่ละชนิดก็จะสะท้อนแสงออกมาได้มากน้อยต่างกัน วัตถุสีเข้มจะดูดกลืนแสงไว้มากและสะท้อนออกมาได้น้อยกว่าวัตถุสีสว่างหรือมันวาว ซึ่งกล้องดิจิตอลทุกตัวจะมีเซลวัดแสงติดมาด้วย โดยจะวัดแสงที่สะท้อนออกมาจากวัตถุโดยใช้ค่าสีเทากลาง 18% เป็นตัวเปรียบเทียบ
…กรณีที่วัดแสงที่สว่างกว่าสีเทากลาง ระบบวัดแสงจะคิดว่าภาพนั้นมีปริมาณแสงมากเกินไป จึงกำหนดให้มีการเปิดรับแสงให้น้อยลง หรือเปิดรูรับแสงให้แคบลง 
กรณีที่วัดแสงที่เข้มกว่าสีเทากลาง ระบบวัดแสงจะคิดว่าภาพนั้นมีปริมาณแสงน้อยเกินไป จึงกำหนดให้การเปิดรับแสงให้มากขึ้น หรือเปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้น

ดังนั้นการวัดแสงเพื่อถ่ายภาพจึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของภาพนั้นๆ ว่าเราต้องการอะไร เช่น การถ่ายภาพในสภาพแสงที่มีความเปรียบต่างสูง (ค่าแสงบริเวณต่างๆ ภายในภาพมีความแตกต่างกันมาก) เราสามารถวัดแสงส่วนที่มืดหรือสว่างก็ได้ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของภาพหรือความต้องการเน้นส่วนใดในภาพ หรืออาจจะวัดแสงแบบเฉลี่ยก็ได้ในกรณีที่อยากได้ทั้งส่วนสว่างและอยากเก็บรายละเอียดส่วนมืดด้วย เป็นต้น

       ทิศทางของแสงที่มีผลต่อการถ่ายภาพ ซึ่งทิศทางของแสงจะสามารถสื่อและสร้างอารมณ์ของภาพทุกภาพได้ เพราะแสงที่มาจากทิศต่างๆ ของวัตถุทำให้เกิดภาพที่ต่างกันออกไป เกิดความเปรียบต่าง เกิดมิติของภาพต่างกัน ซึ่งถ้ารู้จักนำทิศทางของแสงมาใช้ก็สามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่หลากหลายได้ ดังนี้

1) แสงจากด้านหน้า เป็นแสงที่ส่องมาในทิศทางเดียวกับกล้องเข้าไปตรงตัวแบบ แสงแบบนี้ให้ความสว่างบนตัวแบบอย่างสม่ำเสมอกันทำให้ตัวแบบดูแบนไม่มีมิติ ความเปรียบต่างของแสงจะน้อย แต่จะทำให้เห็นรายละเอียดของตัวแบบได้ชัดเจนและมีสีสันสดใส อาจมีเงาเล็กน้อย ทำให้ภาพดูไม่น่าสนใจและสร้างอารมณ์ได้น้อยลง

ภาพจากแสงหน้าในช่วงเวลาที่แสงสดใส เปิดให้เห็นรายละเอียดของตัวแบบได้ชัดเจนและมีสีสันสดใส

2) แสงจากด้านข้าง เป็นแสงที่กระทบบนตัวแบบเพียงด้านหนึ่ง ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นเงา แสงลักษณะนี้ช่วยสร้างมิติให้กับภาพได้มากกว่า ทำให้เกิดความลึก เหมาะสำหรับการถ่ายทอดลักษณะรูปร่างและรูปทรงของตัวแบบ

ภาพถ่ายบุคคลที่มีแสงเข้าด้านข้าง ทำให้เกิดความลึกและเห็นรูปทรงได้ดี

3) แสงจากด้านข้าง 45 องศา เป็นแสงที่ส่องกระทบแบบในแนวเยื้องๆ 45 องศา ทำให้เราเห็นการไล่แสงและเงาช่วยสร้างมิติให้กับแบบได้ดี และจะมีเงาเกิดขึ้นในทิศทางตรงกันข้ามกับแสง เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคล ดึงดูดสายตาคนมากขึ้น

ภาพถ่ายบุคคลกับแสง 45 องศาที่ทำให้เกิดเงาและมิติของภาพ

4) แสงจากด้านหลัง เป็นแสงที่มาจากด้านหลังแบบ หรือการถ่ายภาพย้อนแสงนั้นเอง ซึ่งถ้าใช้กับภาพที่เหมาะสมอาจจะสามารถสร้างสรรค์ภาพที่สวยงามได้ไม่น้อย เช่น การถ่ายภาพแนว Silhouette ที่เป็นภาพที่เน้นบรรยากาศของท้องฟ้าในตอนเช้าหรือเย็น แล้วทำให้แบบหรือคนมืดดำเห็นแต่รูปร่างหรือเส้นขอบ

การถ่ายภาพย้อนแสงนั้นถ้าตัวแบบมีลักษณะโปร่งแสงจะทำให้เห็นรายละเอียดและสีสันของวัตถุในส่วนที่โปรงแสงเป็นอย่างดี ลักษณะนี้เรียกว่า back light และในกรณีที่แสงส่องมาแล้วเห็นเป็นเส้นขอบฟุ้งๆ รอบวัตถุเรียกว่า Rim light 

ภาพถ่ายย้อนแสงแนว Silhouette ที่เน้นบรรยากาศของท้องฟ้าในตอนเย็น ทำให้แบบมืดดำเห็นแต่รูปร่าง

ภาพที่แสงเข้าด้านหลังทำให้เกิด Rim Light ที่ขอบของแบบ

แสง back light จะทำให้เห็นรายละเอียดและสีสันของวัตถุในส่วนที่โปรงแสง

        ช่วงเวลากับแสงในการถ่ายภาพ แสงในช่วงเวลาต่างๆ มีผลต่อภาพที่ถ่ายออกมาซึ่งถ้าเราเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของแสงมากเท่าไหร่ก็จะช่วยทำให้เราถ่ายภาพให้ดีขึ้นมากขึ้นเท่านั้น เเสงเป็นปัจจัยหลักของการถ่ายภาพ ช่วงเเสงในเวลาที่เเตกต่างกันของวันมีผลต่อสีเเละอารมณ์ของภาพที่ออกมาเเตกต่างกันไปด้วย ดังช่วงแสงที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ เช่นแสงช่วง Blue Hour, แสงช่วง Twilight, แสงช่วง Golden hour ซึ่งมีช่วงเวลาของการเกิดแสงตามตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ดังนี้

ตำแหน่งดวงอาทิตย์ที่ทำให้เกิดแสงแบบต่างๆ (ที่มา: https://www.photopills.com/)

#…แสงช่วง Blue Hour เป็นช่วงเวลาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นและหลังดวงอาทิตย์ตก ระยะเวลาประมาณ 20-40 นาที ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และภูมิประเทศ ช่วงเวลานั้นจะมีท้องฟ้าส่วนใหญ่เป็นสีน้ำเงิน และอาจมีสีส้ม เหลือง ม่วง และชมพูด้วย 
Blue Hour ช่วงเช้านั้นจะเริ่มก่อนที่ดวงอาทิตย์ขึ้นประมาณ 30 นาที (from -6° to -4°) และช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดคือช่วงที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นผ่านเส้นขอบฟ้า
Blue Hour ช่วงเย็นมักเกิดขึ้นหลังพระอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว (from -4° to -6°)

ภาพถ่ายกับแสงในช่วงเวลา Blue Hour

#…แสงช่วง Twilight เป็นช่วงเวลาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น(from -18° to 0°) หรือหลังจากดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว ดวงอาทิตย์จะอยู่ต่ำกว่าขอบฟ้า(from 0° to -18°) หลังช่วง Blue Hour ในช่วงเช้าและก่อนช่วง Blue Hour ในช่วงเย็นที่ยังสามารถมองเห็นแสงได้เนื่องจากส่องสว่างชั้นบนของชั้นบรรยากาศเมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ที่ยังกระจายอยู่ในชั้นบรรยากาศชั้นบนส่องมายังชั้นบรรยากาศชั้นล่างและพื้นผิวโลก ทำให้เห็นท้องฟ้าบริเวณใกล้กับขอบฟ้าเป็นสีเหลือง ส้ม หรือแดง ซึ่งเป็นช่วงที่ท้องฟ้าเปลี่ยนสีสวยงาม

ภาพถ่ายบุคคลกับแสง Twilight ที่ทำให้เห็นท้องฟ้าบริเวณใกล้กับขอบฟ้าเป็นสีเหลือง ส้มหรือแดง ซึ่งปกติตัวแบบจะดำมืดจึงต้องใช้แสงแฟรชช่วยเปิดรายละเอียดของแบบขึ้นมา

#…แสงช่วง Golden hour เป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าและช่วงเวลาก่อนที่ดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้าไป ช่วงเวลาดังกล่าวดวงอาทิตย์จะให้เเสงสีทองที่นุ่ม ไม่เเข็งกระด้าง สร้างมิติ เเละเเสงเงาได้ เป็นช่วงที่ท้องฟ้าสวยที่สุดของวัน (from -4° to 6°) และ (from 6° to -4°)

ภาพถ่ายประติมากรรมกับแสงในช่วงเวลา Golden Hour ของตอนเช้า

#…แสงแดดสดใส เป็นแสงของช่วงเวลา 09:00-11:00น.และ 14:00-15:30น.เป็นช่วงที่แสงให้สีสันถูกต้องที่สุด โดยแสงจะมีสีเหลืองจางๆ และมีเงาของวัตถุทำให้เราได้ภาพวัตถุที่มีมิติ เห็นรูปทรงชัดเจน การถ่ายภาพบุคคลในช่วงนี้ก็จะทำให้ภาพที่ได้ดูน่าสนใจขึ้น อาจจะต้องมีการเสริมเเสงเข้าไปในบางมุม เหมาะกับการถ่ายภาพหรือวีดีโอ

ภาพถ่ายในช่วงเวลาที่แสงแดดสดใสทำให้ภาพมีสีสันสวยงาม

#…แสงแข็ง เป็นช่วงเวลาที่แสงมีทิศทางมาตรงหรืออยู่เหนือศีรษะ เป็นแสงที่มีระดับความเข้มของแสงมาก เห็นเงาชัด ส่วนต่างของส่วนมืดและส่วนสว่าง (contrast) สูง ทำให้แสงดูเข้มและสีดูอิ่มตัวมากขึ้น และกรณีนี้ต้องระวังเรื่องรายละเอียดในส่วนมืดและส่วนสว่างที่มากเกินไป อาจทำให้สูญเสียรายละเอียดได้ ซึ่งทำให้เกิดเงาใต้ตา จมูก ปาก เป็นแสงที่แรงมากไม่เหมาะกับการถ่ายภาพ

ภาพจากแสงแข็งที่ทำให้เกิดเงาใต้ตา จมูก ปาก ที่ไม่เหมาะในการถ่ายภาพบุคคล ซึ่งอาจต้องใช้แสงแฟรชช่วยลบเงาและเปิดรายละเอียดของแบบขึ้นมาในกรณีที่จำเป็น

เหล่านี้เป็นหลักการเบื้องต้นและตัวอย่างการถ่ายภาพในสถานการณ์แสงแบบต่างๆ เท่านั้น ซึ่งช่างภาพจะต้องนำสิ่งเหล่านี้ไปประยุกต์ในงานของตนเอง ตามรูปแบบและความต้องการสร้างสรรค์งานขึ้นมา

By Panom Boonprai

M.S. (Information and Internet Technology) Teacher of Special expertist. Information Technology dept. Suratthani Technical College.