บทความนี้เขียนขึ้นมาจากข้อสงสัย ด้านการใช้งานกล้องและเลนส์แบบ Full frame กับ Aps-c กรณีที่เราเอาเลนส์ Full frame ไปใช้กับกล้อง Aps-c ซึ่งมันจะมีค่า Crop factor อยู่ ที่ดูเหมือนว่าเราจะได้ระยะเลนส์ที่เพิ่มขึ้น แล้ว Perspective ของภาพล่ะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร เรามาหาคำตอบกัน…
ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกับศัพท์พื้นฐานของภาพก่อน ว่าแต่ละค่ามันหมายถึงอะไร
1.Sensor
เซนเซอร์ คือชิ้นส่วนของกล้องที่ทำหน้าที่รับแสงที่ผ่านเข้ามาทางเลนส์ และแปลงแสงเหล่านั้นให้กลายเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่สามารถดู วิเคราะห์ หรือจัดเก็บได้ เซนเซอร์มีรูปทรงและขนาดแตกต่างกันไป แต่จะมีรูปแบบมาตรฐานบางอย่างที่บริษัทผู้ผลิตกล้องนิยมใช้
การถ่ายภาพ คือการบันทึกข้อมูลของแสงเข้าไปในกล้อง ซึ่งอุปกรณ์ที่เราจะใช้ในการเก็บแสงก็คือ Sensor ดังนั้น Sensor ขนาดใหญ่ขึ้น มันก็จะทำให้สามารถรับแสงได้เยอะมากขึ้น ในทางกลับกันถ้า Sensor เล็ก ก็จะทำให้รับแสงได้น้อยลง
ปัจจุบันมีเซนเซอร์อยู่หลายประเภท หลายขนาด เช่น Medium Format, Full Frame, APS-C, Micro Four Third, เซ็นเซอร์ 1 นิ้ว และ 1/2.3 นิ้ว
Sensor แบบ Full frame ในกล้อง Sony A7
Sensor แบบ Aps-c ในกล้อง Sony A6500
2.Crop factor
Crop factor หรือตัวคูณความยาวโฟกัสของเซ็นเซอร์รับภาพเป็นอัตราส่วนขนาดของพื้นที่ภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบฟิล์ม 35 มม. เป็นข้อมูลอ้างอิง
บางครั้ง Crop factor ใช้เพื่อเปรียบเทียบขอบเขตการมองเห็นและคุณภาพของภาพของกล้องต่างๆ ที่มีเลนส์เดียวกัน Crop factor บางครั้งเรียกว่า ตัวคูณความยาวโฟกัส เนื่องจากการคูณทางยาวโฟกัสของเลนส์ด้วย Crop factor จะทำให้ได้ทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่จะให้ขอบเขตการมองเห็นเท่ากัน หากใช้ในรูปแบบอ้างอิง ตัวอย่างเช่น เลนส์ที่มีความยาวโฟกัส 50 มม. บนพื้นที่ถ่ายภาพที่มี Crop factor 1.6 เมื่อเทียบกับรูปแบบอ้างอิง (35 มม.) จะให้มุมมองเดียวกันกับเลนส์ที่มีความยาวโฟกัส 80 มม. จะให้ผลในรูปแบบอ้างอิง หากต้องการถ่ายภาพด้วยขอบเขตการมองเห็นและคุณภาพของภาพเท่ากันแต่ใช้กล้องต่างกัน จะต้องปรับการตั้งค่ารูรับแสงและ ISO ตาม Crop factor ด้วย ความยาวโฟกัสของเลนส์ไม่เปลี่ยนแปลง โดยใช้พื้นที่การถ่ายภาพที่เล็กลง มุมมองจะเล็กลงตามลำดับเนื่องจากพื้นที่ที่เล็กกว่าของวงกลมภาพที่ส่งโดยเลนส์ถูกใช้โดยพื้นที่ภาพที่เล็กกว่า
Crop factor มีไว้สำหรับเทียบองศารับภาพของเลนส์ ระหว่างกล้อง 2 ตัวที่มีเซ็นเซอร์รับภาพขนาดต่างกัน ซึ่งตัวเซ็นเซอร์รับภาพ คือพื้นที่ที่ตัวกล้องเก็บข้อมูลภาพจากเลนส์ที่ถ่ายออกมาได้ ด้วยความที่กล้องแต่ละฟอร์แมต มีขนาดเซ็นเซอร์รับภาพไม่เท่ากัน ก็เลยส่งผลทำให้ภาพที่ได้ต่างกันไปด้วย
ที่เรียกว่า Crop factor เพราะถ้าเทียบกล้องที่เซ็นเซอร์ใหญ่ กับกล้องเซ็นเซอร์เล็ก ภาพที่ได้จากเซ็นเซอร์ที่เล็กกว่าจะเหมือนถูกหั่นขอบออกไป เหมือนการ Crop ภาพออกด้วยโปรแกรม จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมกล้องที่มีขนาดเซ็นเซอร์ไม่เท่ากัน จึงต้องมีการเทียบทางยาวโฟกัสของเลนส์ เมื่อเทียบระหว่างกล้องที่มีขนาดเซ็นเซอร์ไม่เท่ากัน
Crop factor เอาไว้เทียบองศารับภาพของเลนส์กับกล้องที่ขนาดเซ็นเซอร์ไม่เท่ากัน โดยเทียบกับเซ็นเซอร์ Full Frame เป็นหลัก โดยกำหนดให้มีตัวคูณดังนี้
x1 = Full Frame (Canon EF , Nikon FX , Sony A7)
x1.5 = APS-C (Nikon DX , Sony E)
x1.6 = APS-C (Canon EF-S)
x2 = M4/3 (Olympus , Panasonic)
3.Focal length and angle of view
Focal length หรือ ความยาวโฟกัส หมายถึงระยะห่างจากวัตถุถึงเซนเซอร์กล้อง
Angle of view หรือ มุมรับภาพ หมายถึงมุมที่แสดงขอบเขตที่บันทึกในภาพถ่าย หรือมันคือขอบเขตเชิงมุมของฉากที่ถ่ายบนเซนเซอร์ โดยวัดในแนวทแยง สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่ามุมมองภาพทั้งหมดถูกกำหนดโดยทั้งทางยาวโฟกัสของเลนส์และรูปแบบของเซนเซอร์ของกล้อง ดังนั้นมุมมองภาพที่คุณได้รับจากเลนส์ใดๆ จะแตกต่างกัน ในฟูลเฟรม และ APS-C เลนส์ต่างๆ ที่มีความยาวโฟกัสเท่ากันจะมีมุมมองภาพเท่ากันเสมอเมื่อใช้กับเซนเซอร์ขนาดเดียวกัน
เมื่อใช้เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสั้น เช่น 18 มม. ภาพถ่ายที่ได้จะมีมุมมองที่กว้างขึ้น เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสยาวกว่า เช่น 200 มม. จะทำให้มีมุมรับภาพที่แคบลง ความยาวโฟกัสของเลนส์ คือระยะการมองเห็น (โดยปกติจะวัดเป็นหน่วยมิลลิเมตร) จากจุดที่แสงมาบรรจบกันภายในเลนส์ถึงเซนเซอร์ของกล้อง
35 mm.
50 mm.
85 mm.
100 mm.
135 mm.
150 mm.
4.Depth of Field
Depth of Field (DOF) หรือระยะชัดลึก คือระยะห่างระหว่างวัตถุที่ใกล้ที่สุดและไกลที่สุดซึ่งมีโฟกัสคมชัดที่ยอมรับได้ในภาพที่ถ่ายด้วยกล้อง เป็นหนึ่งในแนวคิดที่สำคัญที่สุดในการถ่ายภาพ เพราะกล้องสามารถโฟกัสได้คมชัดเพียงจุดเดียวเท่านั้น แต่การเปลี่ยนจากคมไปเป็นไม่คมนั้นต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
ที่มา https://photographylife.com/sensor-size-perspective-and-depth-of-field
เมื่อใดก็ตามที่จุดหนึ่งอยู่ห่างจากเลนส์มากกว่าระยะโฟกัส แสงของจุดนั้นจะไม่โฟกัสที่เซ็นเซอร์แต่จะตัดกันที่ไหนสักแห่งในอากาศด้านหน้าเซ็นเซอร์ แสงเหล่านี้จะแยกออกอีกครั้งหลังจากจุดตัด และกลายเป็นวงกลมเบลอๆ บนเซนเซอร์ ในทำนองเดียวกัน เมื่อวัตถุอยู่ใกล้กว่าระยะโฟกัส แสงที่สอดคล้องกันจะกระทบกับเซนเซอร์ก่อนที่จะมาบรรจบกัน และยังสร้างวงกลมเบลอๆ บนเซนเซอร์ด้วย รูปร่างของจุดที่พร่ามัวนี้ จะเหมือนกับรูปร่างของรูรับแสงของเลนส์
Depth of Field (DoF) จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อวัตถุอยู่ในตำเเหน่งที่ห่างกว่าช่วงระยะชัดหรือระยะโฟกัสของภาพ บริเวณนั้นจะมีความไม่ชัด (เบลอ) หรือวัตถุ บุคคลหรือสิ่งของ ที่อยู่ในระยะที่ใกล้เลนส์มากเกินไปก็จะอยู่นอกระยะโฟกัสภาพส่วนนั้นก็จะเบลอเช่นกัน ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะเกิดความชัดเเละเบลอบางส่วนของภาพเเต่วัตถุที่อยู่จุดระยะโฟกัสที่เหมาะสมที่สุด วัตถุนั้นจะมีความคมชัดที่สุด
ระยะชัดลึก (Depth of Field) ขึ้นอยู่กับ Focus Distance ด้วย เช่นเราใช้เลนส์ 50mm f2.8 ถ่ายภาพในระยะใกล้วัตถุ จะมีระยะชัดลึกที่น้อย ทำให้ฉากหลังเบลอมาก ในทางกลับกัน ถ้าเราถ่ายภาพในระยะที่ไกลจากวัตถุ จะมีระยะชัดลึกที่มากกว่า ทำให้ฉากหลังเบลอได้น้อยกว่า ฉนั้นถ้าเราใช้เลนส์ f1.8 ถ่ายไกลจากวัตถุ อาจจะมีความเบลอฉากหลังพอๆ กับใช้เลนส์ f2.8 ถ่ายใกล้ๆ วัตถุก็ได้ ดังภาพตัวอย่างใช้กล้อง Sony A7iii กับเลนส์ Sony FE 85 โดยภาพแรกเปิดรูรับแสง f1.8 กล้องห่างจากวัตถุ 2 ม. และอีกภาพเปิดรูรับแสง f2.8 กล้องห่างจากวัตถุ 1 ม.
ที่ f1.8 กล้องห่างจากวัตถุ 2 ม.
ที่ f2.8 กล้องห่างจากวัตถุ 1 ม.
5.Bokeh Effect
โบเก้ (Bokeh) มาจากภาษาญี่ปุ่น แปลว่าหมอกควัน หรือเบลอ ซึ่งหมายถึงวิธีที่เลนส์แสดงจุดแสงที่อยู่นอกโฟกัส ภาพที่มีโบเก้ที่ดีหมายถึงคุณภาพความสวยงามของความเบลอของพื้นหลังของภาพ ซึ่งจะเพิ่มความสวยงามและไม่ส่งผลกระทบให้กับภาพ หรือไม่ขึ้นมาแข่งกับแบบ ช่างภาพจะใช้เอฟเฟ็กต์นี้ เพื่อสร้างการแบ่งแยกที่สวยงามระหว่างฉากหน้ากับฉากหลัง ซึ่งช่วยให้ตัวแบบหลักเข้ามาอยู่ในโฟกัสได้
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนใช้กล้อง Full Frame ก็เพราะ DoF (Depth of Field) ของกล้อง Full Frame มันแคบกว่ากล้อง APS-C ทำให้มันมี Bokeh Effect หรือการละลายหลังที่เบลอมากกว่า ซึ่งมันเป็นที่ขนาดของ Sensor โดยตรง เป็นเหตุผลว่าทำไมพวกกล้องโทรศัพท์ Sensor ขนาดเล็กจิ๋วที่ใช้ f/1.4 หรือกว้างกว่านั้น มันยังไม่เบลอหลังเท่ากล้องใหญ่ f/2.8
โบเก้โดนัทที่เกิดจากเลนส์แบบ Mirror
โบเก้โดนัทที่เกิดจากเลนส์แบบ Mirror
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโบเก้
1. รูรับแสงที่กว้าง เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างจะทำให้เกิดโบเก้ได้ง่าย เช่น F1.8 หรือ F2.8 แสดงดังภาพตัวอย่างกำหนดให้กล้องอยู่ในตำแหน่งเดิมทุกภาพ เปลี่ยนค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะสม จะเห็นการละลายหลังที่ต่างกัน
f1.8
f2
f2.8
f3.5
f4
f5.6
f8
f11
2. ระยะโฟกัสของเลนส์ (Focal Length) เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสมากจะทำให้เกิดโบเก้ง่าย ดังภาพตัวอย่างที่ถ่ายวัตถุเดียวกัน ระยะจากกล้องถึงวัตถุเท่ากัน ใช้รูรับแสง f2.8 เท่ากัน แต่ใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสต่างกัน จะเห็นความเบลอฉากหลังที่ต่างกันด้วย
Focal Length 35 mm.
Focal Length 50 mm.
Focal Length 85 mm.
Focal Length 135 mm.
Focal Length 150 mm.
3. ระยะจากกล้องถึงตัวแบบ โดยตัวกล้องอยู่ใกล้แบบมากเท่าไร ก็จะทำให้โบเก้ชัดขึ้นเท่านั้น ดังภาพตัวอย่างใช้รูรับแสง f1.8 เท่ากันทุกภาพ แต่จะเลื่อนระยะห่างจากกล้องถึงวัตถุไปในระยะต่างกัน จะเห็นความเบลอฉากหลังที่ต่างกันด้วย
กล้องห่างแบบ 1 m.
กล้องห่างแบบ 2 m.
กล้องห่างแบบ 3 m.
กล้องห่างแบบ 4 m.
กล้องห่างแบบ 5 m.
4. ระยะห่างระหว่างฉากหลังกับตัวแบบ ถ้ามีระยะห่างจากตัวแบบถึงฉากหลังมาก ก็จะทำให้เกิดโบเก้ที่ชัด และเกิดโบเก้ได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างจะทดลองโดยให้กล้องอยู่ห่างจากวัตถุเท่ากันทุกภาพ และใช้เลนส์ 50 มม. รูรับแสง f2.2 เท่ากัน แต่จะเลื่อนตำแหน่งวัตถุให้ห่างจากฉากหลังที่ระยะต่างกัน
วัตถุห่างฉากหลัง 2 m.
วัตถุห่างฉากหลัง 3 m.
วัตถุห่างฉากหลัง 4 m.
วัตถุห่างฉากหลัง 5 m.
6.Perspective
Perspective ในการถ่ายภาพ หมายถึงการเชื่อมโยงเชิงพื้นที่ระหว่างวัตถุในภาพถ่าย ทำให้เห็นความลึกของทิวทัศน์ โดยคำนึงถึงพื้นที่ส่วนหน้า ส่วนกลาง และส่วนหลัง เพื่อสร้างมิติในภาพถ่าย
เมื่อถ่ายภาพด้วยเลนส์เทเล วัตถุที่เป็นฉากหน้าและวัตถุที่เป็นฉากหลังมักจะดูเหมือนอยู่ใกล้กันมากขึ้น ผลของภาพลักษณะนี้เรียกว่าการบีบอัด “Lens compression” ซึ่งไม่ได้เกิดจากตัวเลนส์ แต่เกิดจากการใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสที่ยาว (Telephoto) ตัวกล้องจะต้องอยู่ห่างจากตัวแบบ ดังนั้นสิ่งต่างๆ ในฉากหลังของภาพจะดูใหญ่ขึ้น และถูกบีบอัดให้ใกล้กับฉากหน้ามากขึ้น
ที่มา https://photographylife.com/sensor-size-perspective-and-depth-of-field
เมื่อถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้าง โดยปกติจะต้องเข้าใกล้วัตถุที่เป็นฉากหน้า เพื่อให้ตัวแบบมีขนาดใหญ่พอดีกับเฟรม ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมวัตถุที่อยู่ไกลกว่าจึงดูเล็กลง เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของเปอร์สเป็คทีฟที่ชัดเจนนั้นจริงๆ แล้วเป็นผลมาจากระยะที่อยู่ห่างจากตัวแบบ
การใช้เลนส์เทเล จะทำให้ฉากหลังดูใกล้ดูใหญ่ และฉากหลังที่ละลาย
(ภาพจากกล้อง Sony A7ii เลนส์ Samyang 35-150 ที่ระยะ 150mm. f2.8 speed 1/500 ISO200)
การใช้เลนส์มุมกว้าง จะทำให้ฉากหลังดูเล็ก และมีระยะชัดลึกที่มากกว่า
(ภาพจากกล้อง Sony A7ii เลนส์ Samyang 35-150 ที่ระยะ 35mm. f2.8 speed 1/500 ISO200)
ทางยาวโฟกัสและขนาดเซนเซอร์มีอิทธิพลต่อขอบเขตการมองเห็นของกล้อง โดยทางยาวโฟกัสที่สั้นลงหรือเซนเซอร์ที่ใหญ่กว่าจะเท่ากับขอบเขตการมองเห็นที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ตัวแบบหลักเติมเต็มเศษส่วนเท่ากันของภาพถ่าย เราจะต้องขยับกล้องเข้าไปใกล้มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงระยะห่างระหว่างกล้องและวัตถุจะเปลี่ยนมุมมองของกล้อง เช่น ขนาดสัมพัทธ์ของวัตถุในภาพถ่าย
7.ทดลองเพื่อตอบข้อสงสัย
เมื่อเรานำเลนส์ Full Frame ไปใช้กับกล้องที่มีเซ็นเซอร์ขนาด Aps-c ซึ่งภาพที่ได้จะถูกครอปให้ดูเหมือนมีขนาดใหญ่ (เทียบกับภาพที่ได้จากเลนส์ Full Frame ใช้กับกล้อง Full Frame) เหมือนได้ภาพที่ได้จากเลนส์ทางยาวโฟกัสมากขึ้น (ตามค่า crop factor) จะมี Perspective ของภาพเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร
7.1 ผลของการนำเอาเลนส์ Full Frame มาใช้กับกล้อง APS-C นั้น ประการแรกส่วนที่แสงเข้ามากระทบเซ็นเซอร์แบบ APS-C จะกว้างกว่าขนาดของเซ็นเซอร์ แสดงว่าส่วนของแสงที่มากระทบเซ็นเซอร์จริงๆ จะมาจากส่วนกลางของเลนส์ ซึ่งจะมีคุณภาพที่ดีที่สุดของเลนส์นั้นๆ อยู่แล้ว
ประการที่ 2 ภาพที่ได้นั้น เซ็นเซอร์จะบันทึกเอาเฉพาะแสงส่วนตรงกลางตามขนาดของเซ็นเซอร์ ทำให้ภาพดูเหมือนใหญ่ขึ้น เพราะมันตัดเอามาเฉพาะตรงกลาง แต่ความเป็นจริงมันเป็นมุมมองเดิม องศาการรับภาพก็เท่าเดิม เพียงแต่ขนาดของเซ็นเซอร์เล็กลงเท่านั้น ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
ภาพจากเลนส์ Sony FE 85mm. f1.8
กับกล้อง Full frame (Sony A7ii)
ภาพจากเลนส์ Sony FE 85mm. f1.8
กับกล้อง APS-C (Sony A6500)
จริงๆ แล้วเป็นภาพเดียวกัน แต่ภาพจากกล้อง APS-C มันจะตัดเอามาแต่ตรงกลางมาทำให้ดูใหญ่กว่า แต่มันเป็นมุมรับภาพเดียวกัน ซึ่งถ้าเราเอาภาพจากกล้อง Full Frame มาขยายให้เท่ากับภาพจากกล้อง APS-C จะมีมุมมองและขนาดวัตถุเท่ากันทุกประการ ดังภาพ
เพื่อความชัดเจนจะวางภาพทั้ง 2 เหลื่อมกันให้เห็นขนาดของวัตถุในภาพทั้ง 2 ที่เท่ากัน
7.2 ต่อมาเรามาดูเรื่อง Perspective ของภาพที่ได้จากกล้อง Full Frame และภาพที่ได้จากกล้อง APS-C เมื่อใช้เลนส์ Full Frame ในที่นี้จะใช้เลนส์ Sony FE 85mm f1.8 กับกล้อง Sony A7iii และกล้อง Sony A6500 ในตำแหน่งการตั้งกล้องเดียวกัน มุมมองเดียวกัน องศารับภาพเดียวกัน วัตถุเดียวกัน
ภาพจากกล้อง Sony A6500 กับเลนส์ Sony FE 85mm ที่ f2 s1/1000 ISO100
ภาพจากกล้อง Sony A7iii กับเลนส์ Sony FE 85mm ที่ f2 s1/1000 ISO100
ที่นี้ลองขยายภาพทั้งสอง เพื่อเทียบขนาดฉากหลังกัน
ภาพจากกล้อง Sony A6500กับเลนส์ Sony FE 85mm ที่ f2 s1/1000 ISO100
ภาพจากกล้อง Sony A7iii กับเลนส์ Sony FE 85mm ที่ f2 s1/1000 ISO100
จากภาพทั้งสองจะเห็นว่าฉากหลังมีขนาดเท่านกันทุกประการ อันเนื่องมาจากมันมาจากเลนส์ตัวเดียวกัน มุมรับภาพเดียวกัน แต่ขนาดเซ็นเซอร์รับภาพต่างกันทำให้เซ็นเซอร์แบบ APS-C มันบันทึกภาพได้แค่ส่วนกลางตามขนาดของมัน ฉนั้นการเอาเลนส์ Full Frame ไปใช้กับกล้อง APS-C ไม่ได้ทำให้มี Perspective ของภาพเปลี่นแปลงไปแต่อย่างใด แค่ดูเหมือนได้ทางยาวโฟกัสของเลนส์เพิ่มขึ้น (ความจริงไม่ได้เพิ่ม)
7.3 ทดลองเอาเลนส์ APS-C มาใช้กับกล้อง Full Frame ดูบ้าง จากภาพจะเห็นว่าแสงเข้ามากระทบเซ็นเซอร์แบบ Full Frame จะแคบกว่าขนาดของเซ็นเซอร์ ทำให้เกิดขอบมืดกับภาพ แต่ในกล้อง Full Frame ส่วนใหญ่จะมีโหมด APS-C ให้ปรับใช้ โดยมันจะครอปภาพลง ทำให้ขอบมืดหายไป ภาพจะดูเหมือนใหญ่ขึ้นแต่ภาพจะมีขนาด (Resolution) เล็กลง ดังภาพข้างล่าง
ภาพจะมีขอบมืดจากการใช้เลนส์ APS-C กับกล้อง Full Frame
ถ้าใช้โหมด APS-C ภาพจะถูกครอปเอาส่วนขอบมืดออกไป